ประวัติและพัฒนาการ
การจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียนพณิชยการธนบุรี (ชื่อในขณะนั้น) เริ่มขึ้นภายหลังการก่อตั้งโรงเรียนพณิชยการธนบุรีแล้ว 1 ปี
โดยมีพัฒนาการดังต่อไปนี้

การพัฒนาด้านอาคารสถานที่และระบบบริหารจัดการ
พ.ศ. 2501 เป็นระยะก่อตั้ง อาจารย์ถาวร วิริยสินห์ ปัจจุบันรับราชการที่กรมตำรวจ และอาจารย์บรรยงศ์ โตจินดา
(ปัจจุบันคณบดีคณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเซนจอนห์น) ได้ร่วมกันจัดตั้งห้องสมุดขนาด 2 ห้องเรียน
ที่บริเวณใต้ถุนอาคาร 1 ซึ่งเป็นอาคารไม้ (ปัจจุบัน คือ อาคาร 1 ซึ่งก่อสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2517) โดยการขอบริจาคหนังสือจากนักเรียน-ครูอาจารย์ หน่วยราชการต่าง ๆ และสำนักงานข่าวสารอเมริกันกรุงเทพ ( Usis ) หนังสือที่ได้รับบริจาคเป็นหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ประเภทการ์ตูน นิทานเด็ก หนังสือธุรกิจทั่วไปและหนังสือความรู้ทั่วไป ประมาณ 400 เล่ม ในระยะนี้ไม่มีการลงทะเบียนหนังสือ และการให้บริการแต่อย่างใด

พ.ศ. 2502 ห้องสมุดเริ่มเปิดบริการแก่นักเรียนและอาจารย์ของโรงเรียน มีอาจารย์บรรยงศ์ โตจินดา เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด ไม่มีการกำหนดระเบียบเวลาการให้บริการ ระเบียบการยืมหนังสือ และค่าปรับ การยืมหนังสือใช้วิธีการลงชื่อผู้ยืมในสมุด เริ่มมีวารสารทางวิชาการ ซึ่งได้รับจากการบริจาค

พ.ศ. 2504 ห้องสมุดย้ายมาอยู่อาคาร 3 ชั้นล่าง ขนาด 2 ห้องเรียนและรวมอยู่ในบริเวณของห้องธุรการ ปัญหาที่ประสบคือ ขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรประจำห้องสมุด และการไม่คืนหนังสือของผู้ยืม

พ.ศ. 2505 อาจารย์บรรยงศ์ โตจินดา ลาออกจากการเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด อาจารย์สะอาดศรี ทองตัน
(ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ) เป็นหัวหน้างานห้องสมุดและมีอาจารย์ลัดดา อิ่มประภา (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ) เป็นผู้ช่วย ในระยะนี้ห้องสมุดเริ่มมีการจัดสรรงบประมาณ ในการจัดซื้อหนังสือและบอกรับหนังสือพิมพ์ วารสารและนิตยสาร มีการลงทะเบียนหนังสือใหม่ และหนังสือเก่าที่ได้รับบริจาคตั้งแต่ระยะก่อตั้ง มีการจัดหมวดหมู่ตามระบบทศนิยมดิวอี้ การทำบัตรสมาชิกห้องสมุด การกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการยืมหนังสือ
(ยืมได้ 1 เล่ม ในเวลา 5 วัน) กำหนดเวลาให้บริการ (วันจันทร์-เสาร์ เวลา 7.30น.-17.30 น.)

พ.ศ. 2507 สมาคมนักเรียนเก่าพณิชยการและศิษย์เก่าพณิชยการธนบุรี บริจาคเครื่องปรับอากาศขนาด 10 ตัน เพื่อติดตั้งภายในห้องสมุด

พ.ศ. 2509 มีเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุด 1 คนทำหน้าที่พิมพ์บัตรรายการ และซ่อมหนังสือ และนักเรียนอาสาสมัครช่วยงานห้องสมุดประมาณ 4-5 คน

พ.ศ. 2514 โรงเรียนพณิชยการธนบุรีได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี” เปิดสอนหลักสูตร
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ห้องสมุดขยายเนื้อที่จาก 2 ห้องเรียนเป็น 5
ห้องเรียน ประมาณ 280 ตารางเมตร มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการยืมหนังสือเป็นจำนวน 2 เล่ม ในเวลา 5 วัน ปัญหาที่ประสบคือ บรรณารักษ์มีชั่วโมงสอนมาก ไม่มีเวลาบริหารงานห้องสมุด

พ.ศ.2521 อาจารย์สะอาดศรี ทองตัน ลาออกจากการเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด อาจารย์ศันสนีย์ สุวรรณเจตต์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานห้องสมุด เริ่มมีการสำรวจหนังสือ จัดหนังสือบนชั้นอย่างมีระบบคือ จัดหนังสือเรียงลำดับตามหมวดหมู่จากหมวด 000-900 ตามประเภท หนังสือทั่วไป และหนังสืออ้างอิง โดยแยกภาษาไทยและภาษาต่างประเทศออกจากกัน จัดพิมพ์บัตรรายการหนังสือทุกเล่มที่มีการจัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2521 มีการสำรวจวารสารและเพิ่มรายชื่อวารสารทางวิชาชีพที่สอดคล้องกับหลักสูตรของวิทยาลัย

พ.ศ. 2527 เริ่มให้บริการยืมสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา จำนวน 3 ฉบับ เวลา 3 วัน เริ่มทำบัตรดรรชนีวารสาร หนังสือพิมพ์ กฤตภาค จุลสารและรายงานทางวิชาการที่อาจารย์ผู้สอนมอบให้กับห้องสมุดวิทยาลัย พ.ศ. 2535 ห้องสมุดย้ายมายังอาคาร 2 ชั้น 4 พื้นที่ 550 ตารางเมตร ที่นั่งประมาณ 90 ที่นั่ง ติดตั่งเครื่องปรับอากาศขนาด33,400 บีทียู จำนวน 6 เครื่อง มีการจัดแบ่งสถานที่เป็นหน่วยงาน คือ บริการหนังสือทั่วไป บริการหนังสืออ้างอิง และ บริการสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (วารสาร นิตยสารฉบับปัจจุบันและฉบับล่วงเวลา) กฤตภาค จุลสาร และรายงานประจำวิชา ซึ่งได้รับจากอาจารย์ประจำวิชาต่าง ๆ ในวิทยาลัย

พ.ศ. 2540 เริ่มบริการสืบค้นข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านการเรียนการสอนเทคนิคการค้นคว้าหาข้อมูล

พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ห้องสมุดย้ายมายังอาคาร 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางเมตร ที่นั่งประมาณ 500 ที่นั่ง มี 2 ชั้น ได้แก่ ชั้น 2 มีพื้นที่ 512 ตารางเมตร เป็นส่วนของบริการสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (วารสาร นิตยสาร กฤตภาค จุลสาร) บริการหนังสืออ้างอิง และศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเอง ชั้น 3 มีพื้นที่ 728 ตารางเมตร จำนวน 300 ที่นั่ง เป็นส่วนของสิ่งพิมพ์ทั่วไป ห้องอินเตอร์เน็ต และห้องค้นคว้าสำหรับครู

ตุลาคม 2547 ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับเป็นลูกข่าย ในการสืบค้นข้อมูล จำนวน 5 เครื่อง จากเงินบำรุงการระดมทรัพยากรเครื่องคอมพิวเตอร์ของวิทยาลัย
ธันวาคม 2547 มีห้องบริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 41 เครื่อง จากเงินบำรุงการระดมทรัพยากรเครื่องคอมพิวเตอร์ ในนามสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เป็นเงิน 1,402,561 (หนึ่งล้านสี่แสนสองพันห้าร้อยหกสิบเอ็ดบาทถ้วน)

การพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS
ห้องสมุดวิทยาลัยมีนโยบายในการพัฒนาให้เป็นห้องสมุดอีเล็กทรอนิกส์ (E-Library) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ดังลำดับต่อไปนี้
วันที่ 24-28 มิถุนายน 2539 หัวหน้างานห้องสมุดเข้ารับการอบรม เรื่อง “อบรมเชิงปฏิบัติการใช้โปรแกรม CDS/ISIS ในงานห้องสมุด” ณ อาคารมหานครยิปซัม ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
วันที่ 19 กรกฎาคม 2539 เสนอแนวทางการพัฒนาห้องสมุดสู่ระบบเครือข่ายด้วยโปรแกรม CDS/ISIS กับผู้อำนวยการวิทยาลัย
วันที่ 26 สิงหาคม 2539 ขอยืมเครื่องคอมพิวเตอร์จากคณะวิชาการเลขานุการ จำนวน 5 เครื่อง เนื่องจากห้องสมุดวิทยาลัยไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์
ปัญหาที่ประสบ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยืมมามีสภาพเสียใช้การไม่ได้ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากนักศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาตรี ที่เรียนวิชาการเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด ด้วยการใช้เงินส่วนตัวจำนวน 500 บาท เป็นค่าอาหารและค่าอะไหล่ที่จำเป็นจนสามารถใช้งานได้ ประมาณ 3 เครื่อง
วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 รายงานผลการดำเนินโครงการพัฒนาห้องสมุดอัตโนมัติสู่ระบบเครือข่ายด้วยโปรแกรม CDS/ISIS
วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ผู้ตรวจราชการฯ ประจำกระทรวงศึกษาธิการได้มาตรวจราชการ และเยี่ยมชมห้องสมุดวิทยาลัยและชมการสืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS บนระบบปฏิบัติการ DOS
พ.ศ. 2540 – 2543 จัดทำฐานข้อมูลหนังสือ ฐานข้อมูลบทความ และ ฐานข้อมูลกฤตภาค โดยทำไปทดลองใช้สอนวิชาเทคนิคการค้นคว้าหาข้อมูล (ระดับ ปวส. ) และวิชาการเขียนงานและการใช้ห้องสมุด (ระดับ ปทส. )
วันที่ 1 มิถุนายน 2544 พัฒนาโปรแกรม CDS/ISIS บนระบบปฏิบัติการ DOS ให้เป็นระบบปฏิบัติการ WINDOWS
เพื่อพัฒนาสู่ระบบเครือข่ายจำนวน 3 ฐานข้อมูล ได้แก่ ฐานข้อมูลหนังสือ ฐานข้อมูลบทความจากวารสาร และฐานข้อมูลกฤตภาค
พฤษภาคม 2547 พัฒนาระบบงานให้เป็นระบบเครือข่ายภายในเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการปฏิบัติงานด้านการป้อนข้อมูล
มกราคม 2548 พัฒนาโปรแกรม CDS/ISIS เข้าสู่ระบบเครือข่ายภายนอก ด้วยเว็บไซต์ของห้องสมุดวิทยาลัย ผ่านเครือข่าย sanook.com และมีฐานข้อมูลเพิ่มอีก 1 ฐาน คือฐานข้อมูลสื่อโทรทัศน์ เช่น เทปโทรทัศน์ วีดีทัศน์ และ ซีดีรอมเกิดประโยชน์ในด้านการสอนและการปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุดด้วยเว็ปไซด์ของวิทยาลัย
3 ตุลาคม 2548 ใช้ระบบบาร์โค้ดในการให้บริการยืมคืนทรัพยการสารสนเทศของห้องสมุดและเว็บไซต์ห้องสมุดวิทยาลัยเข้าสู่ระบบเครือข่ายภายนอก

การพัฒนาเว็บไซต์ห้องสมุดวิทยาลัย
ห้องสมุดวิทยาลัยส่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เข้ารับการอบรมเรื่อง “ การสร้างเว็บไซต์ในงานห้องสมุด “ จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ( 14 –16 ธันวาคม 2547 ) เริ่มทดลองใช้เว็บไซต์ห้องสมุดวิทยาลัย ผ่านเครือข่าย sanook. Com

วัตถุประสงค์ของการจัดทำเว็บไซต์

1. ใช้เป็นฐานข้อมูลห้องสมุดวิทยาลัยเพื่อการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายตามหลักการ
Any Way Any Time และนักศึกษาระดับ ปวส. ที่ลงเรียนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ สามารถทำการบ้านจากเว็บไซต์ได้
2. ใช้ในการอบรมนักเรียนนักศึกษาตามโครงการปฐมนิเทศของห้องสมุดตลอดปีการศึกษา
เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และลดภาระงานของบุคลากรห้องสมุด และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้เข้าใช้ห้องสมุดเพิ่มขึ้น
3. ใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ ในระดับ ปวส.1 และ
วิชาการศึกษาภาษาอังกฤษค้นคว้าโดยอิสระ ระดับ ปวช.2
4. ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของผู้สอนในวิชาต่างๆ ด้วย Link Website
5. เป็นแหล่งกลางในการเผยแพร่บทความ งานวิจัยและความรู้ทางห้องสมุดแก่ชุมชนและสังคม
6. เป็นแหล่งกลางในการประชาสัมพันธ์งานห้องสมุด หน่วยงานของวิทยาลัย และชมรมทางวิชาชีพ

admin

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *